การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

สำนักบริการวิชาการได้เห็นความสำคัญในการที่จะทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อสืบสานวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของไทย จึงได้ให้บุคลากรในหน่วยงานร่วมกันมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ดังนี้

ประเพณีรดน้ำดำหัว

เป็นพิธีต่อเนื่องจากวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นประเพณีที่แสดงถึงความเคารพนบน้อบต่อบิดามารดา ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของผู้น้อยและขอขมาลาโทษที่ผู้น้อยอาจเคยล่วงเกินผู้ใหญ่ อีกทั้งเป็นการขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดไปตั้งแต่วันแรกของการเริ่มประเพณีสงกรานต์จนถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์
การดำหัวในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาไทยนั้นหมายถึง การสระผม แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุกๆ ปี จะหมายถึง การชำระสะสาง สิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิต ด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระล้าง จึงใช้คำว่า ดำหัว มาต่อท้ายคำว่า รดน้ำ ซึ่งมีความหมายคล้ายกันกลายเป็นคำซ้อนว่า รดน้ำดำหัว ประเพณีรดน้ำดำหัวถือว่าเป็นประเพณีที่ดีงามอีกประเพณีหนึ่ง ที่ประชาชนชาวไทยถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน โดยจะรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ หรือญาติผู้ใหญ่ หรือบุคคลผู้ที่ตนให้ความเคารพนับถือ การรดน้ำดำหัวนั้นจะเป็นการขอโทษขออภัย ซึ่งกันและกัน ในที่เคยล่วงเกินกันในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการล่วงเกินทางกาย ล่วงเกินทางวาจาหรือว่าการล่วงเกินทางใจ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ต่อหน้าหรือว่าลับหลังก็ตาม ประเพณีรดนำดำหัว หรือบางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีปีใหม่เมืองจะมีในระหว่าง วันที่ 13-15 ในเดือนเมษายนของทุกปีหรือวันสงกรานต์นั่นเอง

พิธีกรรมในการดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ล้านนา มี 3 กรณี คือ

กรณีแรก ดำหัวตนเอง คือทำพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นศิริมงคล เช่น "สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ" แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะ
กรณีที่สอง ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน อันเป็นพิธีกรรมต่อเนื่องจากกรณีแรก คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะภรรยา บุตร หลาน หลังจากดำหัวตนเอง หรือการที่ตนเองรับน้ำส้มป่อย (ในกรณีที่สาม) มาลูบศีรษะตนเองเสร็จแล้วสลัดใส่ศีรษะ หรือลูบศีรษะผู้ที่มาดำหัวตนเอง
กรณีที่สาม ดำหัวผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคณะ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน
การดำหัวในกรณีที่สามนี้ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่ง ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สามารถจรรโลงความสันติสุขให้กับสังคม ได้เป็นอย่างดี การดำหัวผู้ใหญ่ด้วยตนเองอาจจะไม่มีพิธีรีตองมากนัก แต่การดำหัวผู้ใหญ่ที่ต้องไปเป็นหมู่คณะ ย่อมมีกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น

คุณค่าที่ไม่ควรมองข้าม

พ่อแม่หลายคนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรดน้ำดำหัวเท่าที่ควร มองว่าเป็นเพียงประเพณีหนึ่งที่อยู่ในวันสงกรานต์ และมักใช้เวลาไปกับการเดินห้างสรรพสินค้า แต่หากมองให้ดี การรดน้ำดำหัวล้วนให้คุณค่ากับเด็กเล็กมากมาย
  1. ความสัมพันธ์ในครอบครัว ข้อนี้คุณแม่หลายคนคงเดาถูก เพราะว่าการที่เด็กๆ ได้ไปพบญาติผู้ใหญ่ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เด็กได้พบกับญาติๆ ที่นอกจากจะสนุกและยังอบอุ่นแล้ว ยังปลูกฝังให้เด็กมีความเคารพและมีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่
  2. พัฒนาการของเด็ก อันนี้คุณแม่คงเดาไม่ออกว่า การที่ลูกได้รดน้ำดำหัวปู่ย่าตายาย จะส่งเสริมพัฒนาการด้านใดบ้าง
  • - ด้านอารมณ์ การที่เด็กได้อยู่กับครอบครัว และได้รดน้ำผู้ใหญ่พร้อมๆ กับคุณพ่อคุณแม่ จะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ ใจเย็น มีสมาธิ (Meditation) มากขึ้น
  • - ด้านสังคม การเข้าสังคมสามารถเริ่มได้จากสังคมเล็กๆ อย่างครอบครัว และพัฒนาไปเรื่อยๆ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเข้าสังคมที่ใหญ่ขึ้นต่อไป
  • - ด้านจิตใจ เด็กจะได้เรียนรู้ถึงประเพณีอันดีงามและควรสืบสาน ทั้งยังช่วยให้ลูกเห็นความสำคัญของคำว่าครอบครัวที่มีมากกว่าพ่อแม่ลูกด้วย
  • - ด้านร่างกาย หลังการรดน้ำดำหัวแล้ว หากมีการชวนกันไปทำบุญที่วัดก็มักมีการก่อเจดีย์ทราย ถือเป็นการเล่นตามประเพณีไทยอย่างหนึ่ง ที่ได้ออกกำลังกล้ามเนื้อมือ แขน และขาไปในตัว

สิ่งที่ต้องนำไปใช้ในการรดน้ำดำหัว

  1. น้ำอบไทยหรือน้ำหอม น้ำส้มป่อย
  2. ดอกมะลิและดอกกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆ ที่ปลูกอยู่ในบ้านก็ได้
  3. ขันเงินหรือขันทองเหลือง พานข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน
  4. ผ้าตัดเสื้อ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม หรือของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่
หมายเหตุ : สิ่งที่ต้องเตรียมเหล่านี้ถ้าไม่มีเวลาเตรียมครบทุกอย่างก็อนุโลมได้ เพราะหากทำด้วยใจแล้วจะเตรียมการได้ดีมากน้อยแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่แล้ว

การแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมือง

ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมต้องการดำเนินการส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมืองในสถาบันศึกษา/หน่วยงาน เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกให้เยาวชน ประชาชนเห็นความสำคัญในคุณค่าของวัฒนธรรม การอนุรักษ์เอกลักษณ์ของชาติ ทั้งนี้ สำนักบริการวิชาการได้จัดโครงการ “อนุรักษ์ความเป็นไทย” เพื่อสืบสานวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของไทย เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ค่านิยมความเป็นไทย และเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างบุคลากรและผู้บริหารของสำนักบริการวิชาการ


มารยาทไทย

มารยาทไทย แสดงออกถึงความเป็นไทยที่ดีงามทางกิริยา และวาจา ที่ปฏิบัติต่อกันด้วยความสุภาพอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะ และมิตรภาพที่ดี ซึ่งมารยาทไทยในสังคมการทำงานนั้นพึงควรมีและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติร่วมกัน และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ และรักษามารยาทไทยอันดีงามสืบต่อไป

สืบสานประเพณี ศิลปวัฒนธรรมไทย