ความเป็นมา

ความเป็นมาของสำนักบริการวิชาการ

ภาระหน้าที่หลักประการหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษานอกจากการผลิตบัณฑิต การวิจัย การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม คือ การให้บริการวิชาการแก่ชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพาได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทนี้ จึงได้ริเริ่มให้มีโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ มาตั้งแต่ยังเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน จนกระทั่งได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒบางแสน บทบาทและภาระหน้าที่นี้ได้ทวีมากขึ้นเป็นลำดับ จึงได้จัดตั้งงานบริการวิชาการแก่ชุมชนขึ้น โดยเป็นหน่วยงานภายในสังกัดกองธุรการวิทยาเขต และได้ดำเนินงานด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง
ในปี พ.ศ. 2533 มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพจาก “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน” มาเป็น “มหาวิทยาลัยบูรพา” มหาวิทยาลัย มีนโยบายที่จะยกระดับงานบริการวิชาการแก่ชุมชน ซึ่งเดิมดำเนินงานในรูปแบบโครงการพิเศษเป็นการภายในให้เป็น “สำนักบริการวิชาการ” ซึ่งจะสามารถทำหน้าที่ในการบริการวิชาการแก่ชุมชนได้กว้างขวางและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก มหาวิทยาลัยจึงเสนอโครงการจัดตั้ง “สำนักบริการวิชาการ” เข้าบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2537) ซึ่งได้รับการอนุมัติให้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาดังกล่าว โดยสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา
สำนักบริการวิชาการได้รับอนุมัติ ให้จัดตั้งเป็นส่วนงานเทียบเท่าคณะตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111 ตอนที่ 10 ก. ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2537 และประกาศการแบ่งส่วนราชการ มหาวิทยาลัยบูรพา ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111 ตอนที่ 39 ง. ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 แบ่งส่วนราชการของสำนักบริการวิชาการออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานเลขานุการ ฝ่ายฝึกอบรม และฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่วิชาการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้จัดตั้งฝ่ายพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มอีก 1 ฝ่าย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยบูรพา ได้อนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้อนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
สำนักบริการวิชาการเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการโดยมุ่งเน้นในการสนับสนุนภารกิจการให้บริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัย พร้อมในการดำเนินการและพัฒนางานให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาและนโยบายของมหาวิทยาลัยและของประเทศชาติ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
วัน/เดือน/ปี รายละเอียดกิจกรรม
11 พ.ย. 2528 มหาวิทยาลัยแต่งตั้งหัวหน้างานบริการวิชาการแก่ชุมชน สังกัดฝ่ายกิจการพิเศษ
10 ก.พ. 2529 มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการงานบริการวิชาการแก่ชุมชน
9 ธ.ค. 2530 มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการงานบริการวิชาการแก่ชุมชน สังกัดฝ่ายกิจการพิเศษ
27 ธ.ค. 2532 มหาวิทยาลัยแต่งตั้งประธานโครงการจัดตั้งสำนักบริการวิชาการ
7 มิ.ย. - 16 ก.ค. 2534 มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งสำนักบริการวิชาการ และดำเนินกิจกรรม ด้านบริการวิชาการแก่ชุมชน
10 มิ.ย. 2536 กรรมการทบวงมหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบการจัดตั้งสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพาในคราวประชุมครั้งที่ 6/2536 
9 ก.ค. 2536 รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุมัติการจัดตั้ง สำนักบริการวิชาการมหาวิทยาลัยบูรพา โดยแบ่ง ส่วนราชการดังนี้
1. สำนักงานเลขานุการ
2. ฝ่ายฝึกอบรม
3. ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่วิชาการ
2 มี.ค. 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฏีกา จัดตั้งส่วนราชการใน มหาวิทยาลัยบูรพา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2537 (จัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์และสำนักบริการวิชาการ)
25 มี.ค. 2537 ประกาศใช้เป็นกฏหมายในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฏีกา เล่ม 111 ตอนที่ 10 ก. ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2537
22 เม.ย. 2537 ทบวงมหาวิทยาลัย ส่งประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการใน มหาวิทยาลัยบูรพา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2537 (คณะสาธารณสุขศาสตร์และสำนักบริการวิชาการ) ไปเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา
17 พ.ค. 2537 ประกาศแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยบูรพา ของสำนักบริการวิชาการออกเป็น 3 ฝ่าย ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 111 ตอนที่ 39 ง. ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2537
2538 มีความร่วมมือทางวิชาการกับโรงเรียนสถานสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (AUA) จัดโครงการสอนภาษาอังกฤษเฉพาะกิจ (AUA) แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
มิ.ย. - พ.ย. 2543 ได้รับงบประมาณจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เพื่อปรับปรุงอาคารภาควิชาวาริชศาสตร์ เดิมเป็นสำนักงานของสำนักบริการวิชาการ วงเงิน 4,000,000 บาท
23 ม.ค. 2547 ได้รับอนุมัติให้แบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขานุการ ให้เป็น 2 งาน คือ
1. งานบริหารทั่วไป
2. งานการเงินและพัสดุ
ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยบูรพา เรื่องการแบ่งส่วนงานภายใน 2 ระดับ ภายในสำนักงานเลขานุการคณะและสำนัก มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2547
28 ก.ย. 2549 ได้รับมอบหมายให้เป็นสำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยบูรพา
10 ม.ค. 2550 ได้รับการแบ่งส่วนภายในมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งปรับเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้ชื่อ “สำนักบริการวิชาการ” เหมือนเดิม
16 พ.ค. 2551 ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้เป็นหน่วยงานฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างานระดับบริหาร และระดับวิชาชีพ ทะเบียนเลขที่ จป. 51-011
18 มิ.ย. 2551 คณะกรรมการประจำสำนักบริการวิชาการให้ความเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของสำนักบริการวิชาการ
24 มิ.ย. 2551 ได้รับการจดทะเบียนจากศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทยกระทรวงการคลังให้เป็นที่ปรึกษาประเภท A หมายเลข 2617 ให้บริการในฐานะที่ปรึกษาสาขาอุตสาหกรรม ด้านฝึกอบรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรม
30 พ.ย. 2553 ลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อดำเนินการให้บริการวิชาการแก่สังคมร่วมกันกับ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
30 พ.ค. 2554 ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยบูรพาให้รับผิดชอบในการขอเพิ่มสาขาที่ปรึกษาไทยในนามมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ปรึกษาประเภท A หมายเลข 1065 เพื่อให้ส่วนงานภายในใช้อ้างอิงในการรับจ้างเป็นที่ปรึกษา 3 สาขา ดังนี้
1. สาขาอุตสาหกรรม
2. สาขาประชากร ด้านวิจัยและประเมินผล
3. สาขาเบ็ดเตล็ด ด้านพัฒนาองค์กร
20 มี.ค. 2555 ลงนามในบันทึกตกลงเบื้องต้น ความร่วมมือด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชน ระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2558 ร่วมกับ 37 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
23 ก.ค. 2555 บันทึกความร่วมมือทางวิชาการด้านการบริการวิชาการแก่สังคมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
27 ก.ค. 2555 ต่อทะเบียนที่ปรึกษาไทย ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษาประเภท A หมายเลข 1065 ให้บริการฐานะที่ปรึกษาสาขาอุตสาหกรรม สาขาประชากร ด้านวิจัยและประเมินผล และสาขาเบ็ดเตล็ด ด้านพัฒนาองค์กร
1 ต.ค. 2555 คณะกรรมการประจำสำนักบริการวิชาการเห็นชอบให้จัดตั้งฝ่ายวิจัยและพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเห็นชอบให้รับโอนภารกิจและบุคลากรจากศูนย์สังคมและสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งดำเนินการยืมตัวบุคลากรและดำเนินภารกิจงานด้านการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้สำนักบริการวิชาการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป
15 พ.ค. 2556 มติสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 3/2556 ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งฝ่ายพัฒนาสังคมและสิ่งแเวดล้อม สำนักบริการวิชาการ (ข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2556)
22 ส.ค. 2557 ต่อทะเบียนที่ปรึกษาไทย ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษาประเภท A หมายเลข 1065 ให้บริการฐานะที่ปรึกษาสาขาอุตสาหกรรม สาขาประชากร ด้านวิจัยและประเมินผล และสาขาเบ็ดเตล็ด ด้านพัฒนาองค์กร
18 มี.ค. 2558 มติสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 2/2558 ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักบริการวิชาการ (ข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานภายในส่วนงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558)
9 มี.ค. 2559 มติที่ประชุมคณะกรรมการประจำสำนักบริการวิชาการ ครั้งที่ 1/2559 ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำนักบริการวิชาการ
7 ก.ย. 2559 ต่อทะเบียนที่ปรึกษาไทย ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย กระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษาประเภท A หมายเลข 1065 ให้บริการฐานะที่ปรึกษาสาขาอุตสาหกรรม สาขาประชากร ด้านวิจัยและประเมินผล สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการท่องเที่ยว สาขาคมนาคมขนส่ง และสาขาเบ็ดเตล็ด ด้านพัฒนาองค์กร
1 ส.ค. 2565 สำนักบริการวิชาการ ย้ายมาทำการชั่วคราวที่อาคาร 50 ปี (ศาสตราจารย์ประยูร จินดาประดิษฐ์)
8 ส.ค. 2565 สำนักบริการวิชาการ เริ่มทำการปรับปรุงอาคาร