สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
หน้าแรก | แก้ไขข้อมูล | หัวข้อล่าสุด | สมาชิก | ค้นหา | FAQ
Username:
Password:
Save Password
 All Forums
 รวมบทความวิชาการน่ารู้
 บทความรายการสุขภาพดี-ชีวีมีสุข
 ไข้เลือดออกร้ายกับเจ้ายุงลายในฤดูฝน
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Author Previous Topic Topic Next Topic  

admin
Forum Admin

6599 Posts

Posted - 13 Jan 2021 :  15:00:10  Show Profile  Click to see admin's MSN Messenger address  Reply with Quote
ปีงบประมาณ 2563

ไข้เลือดออกร้ายกับเจ้ายุงลายในฤดูฝน
อาจารย์วิชชาภรณ์ คิดสำโรง


         สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังรายการ “สุขภาพดีชีวีมีสุข” วันนี้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ขอเสนอเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ในตอนที่มีชื่อว่า “ไข้เลือดออกร้ายกับเจ้ายุงลายในฤดูฝน” ในช่วงนี้ก็ยังคงอยู่ในช่วงของฤดูฝน ท่านผู้ฟังบางท่านอาจจะชอบฤดูฝนเพราะในขณะที่ฝนตกโปรยปรายลงมานั้นทำให้อากาศเย็นสบาย ภายหลังฝนหยุดตกยังทำให้รู้สึกสดชื่น ด้วยหยดน้ำฝนที่ชุ่มฉ่ำที่เกาะอยู่บนต้นไม้ใบหญ้าที่เขียวชอุ่ม พร้อมทั้งแสงแดดอ่อน ๆ ช่างเป็นบรรยากาศที่น่ารื่นรมย์จริง ๆ แต่ท่านผู้ฟังทราบไหมคะว่า ในฤดูกาลที่น่ารื่นรมย์นี้แอบแฝงไปด้วยภัยร้ายจากเจ้ายุงลายที่อาจจะนำพาโรคไข้เลือดออกมาสู่ลูกหลานของเรา หรือตัวท่านผู้ฟังเอง
         โรคไข้เลือดออก หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคไข้เลือดออกเดงกี เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ที่ถูกนำมาโดยยุงลายตัวเมีย โดยเมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกที่อยู่ในระยะไข้ เชื้อไวรัสเดงกีจะเข้าสู่ยุงลาย และสะสมอยู่ในต่อมน้ำลายของยุงลาย เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่น ๆ ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสนี้ไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนคนนั้นป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งจะมีระยะฟักตัวของโรคอยู่ประมาณ 5-8 วัน หลังจากนั้นจะทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการของโรค
         อาการของโรคไข้เลือดออกจะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยจะพบอาการตั้งแต่อาการรุนแรงน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงมาก และเสียชีวิตได้ ซึ่งอาการของโรคไข้เลือดออก มีดังนี้
         1. มีไข้สูงลอย 39-40 องศาเซลเซียส อยู่ 2-7 วัน
         2. มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
         3. อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล และมีเลือดปนในปัสสาวะหรืออุจจาระ เป็นต้น
         4. ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา เนื่องจากมีภาวะตับโต
         5. ภายหลังจากที่ไข้ลดลง 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก (shock) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้ ซึ่งเป็นอาการในระดับรุนแรงมาก
         หากพบว่ามีอาการของโรคไข้เลือดออกดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค และควรมีการดูแลตนเองหากเป็นโรคไข้เลือดออก ดังนี้
         1. หากมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวลดไข้บ่อย ๆ และรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (paracetamol) ห่างกันทุก 4-6 ชั่วโมง ห้ามรับประทานยาแอสไพริน (aspirin) โดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้มีเลือดออกได้ง่ายขึ้น
         2. รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก และดื่มน้ำมาก ๆ
         3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
         4. เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการอาเจียนมาก ปวดจุกท้อง ตัวตาเหลือง มีจ้ำเลือดหรือมีอาการเลือดออก หรือมีอาการของภาวะช็อกเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที
         โรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันไม่ไห้เกิดได้ ด้วยการป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะยุงลาย นอนกางมุ้ง ทายากันยุง และสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยกำจัดขยะหรือภาชนะที่มีน้ำขัง ปิดฝาโอ่งน้ำให้สนิท ใส่เกลือแกงหรือทรายอะเบตในจานรองขาตู้ทุกสัปดาห์ หมั่นดูแลบริเวณบ้านให้สะอาด และใส่ปลาหางนกยูงลงในอ่างบัว หรือถังเก็บน้ำในห้องน้ำเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก และฤดูฝนที่น่ารื่นรมย์ของเราก็จะกลับมาดังเดิม
         สำหรับวันนี้เวลาหมดลงแล้ว หวังว่าทุกท่านจะได้รับสาระดี ๆ ในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงนะคะ พบกับรายการ “สุขภาพดี ชีวีมีสุข” ได้ใหม่ในครั้งต่อไป สวัสดีค่ะ

แหล่งอ้างอิง
กรมควบคุมโรค. (2562). ไข้เลือดออก (Dengue Fever). วันที่สืบค้นข้อมูล 31 กรกฎาคม 2563, เข้าถึงได้จาก https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=44
นพพร อภิวัฒนากุล. (2559). ไข้เลือดออก ภัยร้ายใกล้ตัว. สืบค้นข้อมูล 31 กรกฎาคม 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue023/rama-varieties
โรงพยาบาลเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2557). แนวทางการพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก. นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
  Previous Topic Topic Next Topic  
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Jump To:
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา © สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา Go To Top Of Page
This page was generated in 0.14 seconds. Snitz Forums 2000