สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
หน้าแรก | แก้ไขข้อมูล | หัวข้อล่าสุด | สมาชิก | ค้นหา | FAQ
Username:
Password:
Save Password
 All Forums
 รวมบทความวิชาการน่ารู้
 บทความรายการสุขภาพดีมีสุข
 ระวังภัย...ไข้เลือดออก
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Author  Topic Next Topic  

admin
Forum Admin

6599 Posts

Posted - 23 Sep 2019 :  16:29:22  Show Profile  Click to see admin's MSN Messenger address  Reply with Quote
ปีงบประมาณ 2562


ระวังภัย...ไข้เลือดออก
ศรีสกุล สุวรรณรัตน์


กดปุ่ม > เพื่อเล่นไฟล์เสียง


         โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวม 44,671 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 67.62 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยเสียชีวิต 62 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.14 (ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2562)
         ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าไวรัสไข้เลือดออกมีเพียงสายพันธุ์เดียว แต่ในความเป็นความเป็นจริงแล้วมีถึง
4 สายพันธุ์โดยทุกสายพันธุ์อาจอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกที่มีอาการเหมือนกันได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่หายจากการเป็นโรคไข้เลือดออกแล้วก็มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกซ้ำอีกได้ ลักษณะเฉพาะของโรคไข้เลือดนั้น คือ
         1.มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน
         2.คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
         3.หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน
         4.ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา
         ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาแล้วหลายวันผู้ป่วยอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (dengue shock syndrome) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะช็อก หลังจากมีไข้สูง 2-7 วัน ไข้จะเริ่มลดลง ระบบไหลเวียนโลหิตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ความดันโลหิตและชีพจรเริ่มคงที่ เมื่อผ่านไป 2-3 วันจึงเข้าสู่ระยะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะมีแรงมากขึ้น เริ่มรับประทานอาหารได้ อาการปวดท้องดีขึ้น ระยะนี้มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าซึ่งจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
         ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการเพื่อประคับประคองให้ร่างกายของผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
         สำหรับการดูแลอาการเบื้องต้น ผู้ป่วยต้องได้รับการพักผ่อนและควรดื่มน้ำให้มากที่สุด แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะๆ รับประทานอาหารอ่อน งดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีคล้ายเลือดเพื่อไม่ให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อน อาจรับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซทตามอลในปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAID เด็ดขาดเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายและนำไปสู่การเสียชีวิตได้
         โรคไข้เลือดออกไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา ดังนั้น ควรป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวไม่ให้ถูกยุงกัด พยายามนอนในมุ้ง ใช้ยากันยุงแบบฉีดระเหย หรือแบบขดโดยเฉพาะช่วงเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำ หากอยู่ในที่แจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และทายากันยุงบริเวณผิวหนัง สำคัญที่สุดต้องหยุดการแพร่พันธุ์ของยุงโดยการจัดการสิ่งแวดล้อมในภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้สะอาด ปลอดโปร่ง มั่นกำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ยุงลาย เช่น เทน้ำขังในภาชนะ ทำความสะอาดภาชนะน้ำนิ่งทุก 7 วัน หรือเลี้ยงปลาหางนกยูง ปิดฝาภาชนะน้ำให้สนิท เพียงเท่านี้เราก็จะปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกได้

ที่มา
รายงานพยากรณ์ โรคไข้เลือดออก ปี 2562 [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor/6f4922f45568161a8cdf4ad2299f6d23/files/Dangue/Prophecy/2562.pdf (วันที่ค้นข้อมูล: 18 กรกฎาคม 2562).
สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ประจำสัปดาห์ที่26 ปี 2562 [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor/6f4922f45568161a8cdf4ad2299f6d23/files/Dangue/Situation/2562/DHF%2026.pdf (วันที่ค้นข้อมูล: 18 กรกฎาคม 2562).
พบกับเจ้าไข้เลือด แขกที่ไม่ได้รับเชิญ [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก: https://www.mrdengue-th.com/-/media/EMS/Conditions/Dengue/THAILAND_Disease_Consumer/img/20161022Mr Dengue Comic Mother GIRLTHLRFinal.pdf (วันที่ค้นข้อมูล: 19 กรกฎาคม 2562).
   Topic Next Topic  
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Jump To:
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา © สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา Go To Top Of Page
This page was generated in 0.14 seconds. Snitz Forums 2000