สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
หน้าแรก | แก้ไขข้อมูล | หัวข้อล่าสุด | สมาชิก | ค้นหา | FAQ
Username:
Password:
Save Password
 All Forums
 รวมบทความวิชาการน่ารู้
 บทความรายการวิทยาศาสตร์เพื่อประชาชน
 ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีในอ่าวไทยตอนใน
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Author Previous Topic Topic Next Topic  

admin
Forum Admin

6599 Posts

Posted - 23 Sep 2019 :  15:42:09  Show Profile  Click to see admin's MSN Messenger address  Reply with Quote
ปีงบประมาณ 2562


ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีในอ่าวไทยตอนใน
ผศ.ดร.อนุกูล บูรณประทีปรัตน์


กดปุ่ม > เพื่อเล่นไฟล์เสียง


         ในช่วงฤดูฝนเกือบทุกปีเรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีในทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดชลบุรี เช่นที่บริเวณชายหาดบางแสน บางพระและศรีราชา ที่น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม เป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เพราะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชายฝั่งโดยทำให้น้ำเน่าเสีย สร้างความเสียหายต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ทำให้เกิดการตายของปลาและสิ่งมีชีวิตเป็นจำนวนมากในบริเวณนั้น ในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีในอ่าวไทยตอนในกันครับ
         น้ำทะเลในที่ห่างไกลออกไปจากชายฝั่ง เช่น บริเวณกลางอ่าวไทย จะมีสีน้ำเงินเข้ม เนื่องจากมีแพลงก์ตอนและตะกอนอยู่น้อย การที่น้ำมีสีน้ำเงินเป็นเพราะแสงในช่วงคลื่นนี้มีการกระเจิงหรือการแพร่กระจายในน้ำได้มากที่สุดจึงสะท้อนกลับมาให้เราเห็น ส่วนน้ำทะเลในบริเวณใกล้ชายฝั่งจะมีสีแตกต่างออกไป ส่วนหนึ่งเกิดจากตะกอนและสารต่าง ๆ ที่เจือปนมากับน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเล อีกส่วนหนึ่งมาจากแพลงก์ตอนที่มีอยู่ในมวลน้ำ หากมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนทำให้สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไปเป็นสีเข้มตามชนิดของแพลงก์ตอนนั้น ก็จะเรียกว่าเป็นการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี ซึ่งอาจเกิดเป็นสีต่าง ๆ เช่น สีเขียว สีแดง หรือสีน้ำตาล ตามชนิดของแพลงก์ตอนที่เกิดการสะพรั่ง (bloom) เช่น สีเขียวเกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนนอคติลูกา (Noctiluca sp.) สีแดงเกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนสกุลเซอราเตียม (Ceratium sp.) และสีน้ำตาลเกิดจากการสะพรั่งของแพลงก์ตอนสกุลคีโตเซอรอส (Chaetoceros spp.)
         โดยปกติแพลงก์ตอนทั้งแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์จะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตในทะเล แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในบริเวณนั้น แต่การเพิ่มจำนวนของแพลงก์ตอนในปริมาณมากเกินไปกลับส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้ ของเสียที่สะสมจากการอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากและการลดต่ำลงของออกซิเจนละลายน้ำจากการหายใจในเวลากลางคืน จะทำให้แพลงก์ตอนที่เกิดสะพรั่งตายลงและทำให้น้ำทะเลเน่าเสีย การย่อยสลายโดยแบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามมายิ่งทำให้ออกซิเจนละลายน้ำมีปริมาณลดต่ำลงไปอีก สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นจึงไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ที่หนีออกไปไม่ทันก็ตาย อย่างที่เรามักจะพบซากปลาและสัตว์น้ำที่ตายบริเวณชายหาดพร้อมกับการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีอยู่บ่อย ๆ เรายังโชคดีอยู่บ้างตรงที่แพลงก์ตอนชนิดที่สะพรั่งมักไม่ใช่ชนิดที่สร้างสารชีวพิษ จึงไม่เกิดอันตรายเมื่อนำสัตว์น้ำที่กินแพลงก์ตอนเหล่านี้เข้าไปมาบริโภค
         ปัจจัยที่ทำให้แพลงก์ตอนในทะเลเจริญเติบโตได้ดี สำหรับเขตร้อนอย่างบ้านเราคือสารอาหารหรือปุ๋ยในน้ำทะเล ปกติแล้วจะมีเรื่องของแสงด้วย แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนที่ได้รับแสงพอเพียงตลอดทั้งปี จึงไม่เป็นปัจจัยจำกัดต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชในทะเล ย้อนกลับมาในเรื่องสารอาหารถ้ามีในปริมาณมากก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตได้ดี สารอาหารเหล่านี้ที่สำคัญ เช่น ไนเตรท แอมโมเนีย ฟอสเฟส และซิลิเกต ดังนั้นในบริเวณทะเลชายฝั่งใกล้กับปากแม่น้ำ ที่ได้รับสารอาหารที่มาจากแผ่นดินในปริมาณมาก ก็จะเกิดการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืชขึ้นได้ง่าย
         การสะพรั่งของแพลงก์ตอนหรือการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไปในแต่ละฤดูกาลและแต่ละพื้นที่ ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในหรืออ่าวไทยรูปตัว ก ของเรานั้น โดยทั่วไปจะเกิดรุนแรงมากในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมาก ซึ่งจะมากกว่าฤดูแล้งที่มีน้ำท่าไหลลงสู่ทะเลในปริมาณที่น้อยกว่า ด้วยอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ทำให้เกิดกระแสน้ำไหลไปทางชายฝั่งตะวันออก ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและบ่อยครั้งที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก เช่น บริเวณชายหาดบางแสน และชายฝั่งอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในช่วงฤดูกาลนี้ตามข่าวที่เราได้รับทราบกันโดยทั่วไป ในทางกลับกันสำหรับช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีจะย้ายข้างไปเกิดยังแนวชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยตอนใน ตามทิศทางของลมและกระแสน้ำที่เปลี่ยนไปในช่วงฤดูกาลนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำท่ามีปริมาณน้อยและกระแสน้ำมีทิศทางไหลออกจากอ่าว การเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีในช่วงเวลาฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจึงมีความรุนแรงน้อยกว่าในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่เกิดขึ้นในบริเวณชายฝั่งตะวันออก
         ท่านผู้ฟังครับ จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีในทะเลที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาทั้งจากธรรมชาติ เช่น ลมมรสุม กระแสน้ำและปริมาณน้ำท่า และจากการกระทำของมนุษย์จากการปลดปล่อยสารอาหารและสารอินทรีย์ลงสู่แหล่งน้ำ เราคงไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงในส่วนที่มีสาเหตุมาจากธรรมชาติได้ สิ่งที่เราทำได้หากต้องการที่จะทำให้การเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีมีความรุนแรงน้อยลง ในระยะยาวเราอาจจะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยสารอาหารและสารอินทรีย์ต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำ เพราะเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญต่อการก่อให้เกิดการสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืช ส่วนในระยะสั้นเพื่อการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจจะต้องมีระบบติดตามและเฝ้าระวังการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี เพื่อเตือนภัยประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การวางแผนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำเสียที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือการวางแผนการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการทางด้านการท่องเที่ยวก่อนการเกิดปัญหาของน้ำทะเลขึ้น เป็นต้น
         ท่านผู้ฟังครับ หวังว่าท่านผู้ฟังคงจะได้รับความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีในอ่าวไทยตอนในไปบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สำหรับรายการวิทยาศาสตร์เพื่อประชาชนในวันนี้ ก็ขอจบลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ

เอกสารอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ. (2546). การตรวจเฝ้าระวังปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:
ส่วนแหล่งน้ำทะเล สำนักจัดการคุณภาพ กรมควบคุมมลพิษ.
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล. (2549). โครงการเฝ้าระวังและการวางแผนแนวทางป้องกันการเกิด
ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬในบริเวณชายฝั่งทะเล จังหวัดชลบุรี. สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล, มหาวิทยาลัยบูรพา.
  Previous Topic Topic Next Topic  
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Jump To:
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา © สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา Go To Top Of Page
This page was generated in 0.13 seconds. Snitz Forums 2000