สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
หน้าแรก | แก้ไขข้อมูล | หัวข้อล่าสุด | สมาชิก | ค้นหา | FAQ
Username:
Password:
Save Password
 All Forums
 รวมบทความวิชาการน่ารู้
 บทความรายการวิทยาศาสตร์เพื่อประชาชน
 การวิ่งช่วยให้กระดูกแข็งแรง
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Author Previous Topic Topic Next Topic  

admin
Forum Admin

6599 Posts

Posted - 23 Sep 2019 :  13:52:48  Show Profile  Click to see admin's MSN Messenger address  Reply with Quote
ปีงบประมาณ 2562


การวิ่งช่วยให้กระดูกแข็งแรง
สามารถ สายอุต


กดปุ่ม > เพื่อเล่นไฟล์เสียง


         มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งชาติ (National Osteoporosis Foundation) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่าโรคกระดูกพรุนมีผลกระทบต่อผู้คนกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกและเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรง ภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนมักเกิดขึ้นในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปีถึงร้อยละ 25 และอัตราการตายของผู้ชายสูงอายุจากอุบัติเหตุหกล้มก็สูงกว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 40 เนื่องจากมวลกระดูกลดลงตามอายุขัย ดังนั้นจึงมีการแนะนำให้สร้างมวลกระดูกให้มากที่สุดซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคกระดูกพรุน แต่มวลกระดูกของคนเราจะหนาแน่นที่สุดเมื่ออายุประมาณ 18 ปี เพราะช่วงเวลานี้เซลล์สร้างเนื้อกระดูกหรือออสติโอบลาสต์ (osteoblast) ทำงานได้ดี หากร่างกายในช่วงวัยนี้เกิดการขาดสารอาหารหรือฮอร์โมนจำเป็นในการสร้างกระดูกก็จะมีผลต่อสุขภาพของกระดูก ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญต่างแนะนำให้ออกกำลังกายในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มวลกระดูกแข็งแรงมากสุด เพื่อสุขภาพของกระดูกในอนาคต การออกกำลังกายจึงเป็นหนทางสำคัญที่จะสามารถลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักได้
         ทำไมการออกกำลังกายจึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ? เพราะในระหว่างการออกกำลังกายกระดูกจะถูกควบคุมโดยกลไกการหดตัวของกล้ามเนื้อและแรงโน้มถ่วงโลกเช่นแรงกระแทก ซึ่งโครงสร้างกระดูกในระดับเซลล์ เซลล์กระดูกได้รับแรงกระทำต่าง ๆ ส่งผลให้เซลล์เปลี่ยนรูปร่าง เกิดความเครียดระดับเซลล์ที่เกิดขึ้นจากแรงเฉือนของของเหลวนอกเซลล์ รวมทั้งความดันและสนามไฟฟ้าในร่างกาย จึงทำให้เซลล์กระดูกสื่อสารกับเซลล์สร้างเนื้อกระดูก (osteoclasts) เพื่อทำการสร้างเซลล์กระดูกมากกว่าการสลายกระดูก ส่งผลให้โครงสร้างในเซลล์กระดูกและสมบัติของกระดูกในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป มวลกระดูกจึงหนาแน่นมากขึ้น ดังนั้นกิจกรรมการออกกำลังกายที่ทำให้สุขภาพของกระดูกดีขึ้นก็คือ การทำให้ร่างกายได้รับแรงกระแทกสูงหรือแรงการหดตัวกล้ามเนื้อมาก เช่น การกระโดด และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านนั่นเอง
         ในการศึกษาของทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรียืนยันว่าทั้งกิจกรรมที่เกิดแรงกระแทกสูงและกิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวมากสามารถช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกได้ อย่างไรก็ตามกีฬาที่มีแรงกระแทกสูง เช่น การวิ่งนั้นดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์มากกว่าการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านอย่างการยกเวตและการวิดพื้น ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทดลองเปรียบเทียบผลการออกกำลังกายของนักกีฬาผู้ชายอายุ 19 ถึง 45 ปีในประเภทกีฬาชนิดต่าง ๆ ต่อความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยใช้เครื่องดูดกลืนรังสีเอกซ์ พบว่า นักกีฬาที่ออกกำลังกายแบบมีแรงต้านมีน้ำหนักตัว น้ำหนักของส่วนอื่น ๆ ในร่างกายทั้งหมดที่ไม่ใช่ไขมัน (lean body mass) และมวลไขมันมากกว่านักวิ่งและนักปั่นจักรยานอย่างมีนัยสำคัญ นักวิ่งมีการเพิ่มขึ้นของมวลกระดูกสันหลังมากกว่านักปั่นจักรยาน ส่วนการวิ่งระยะยาวและการฝึกออกกำลังกายแบบมีแรงต้านช่วยเพิ่มมวลกระดูกเมื่อเทียบกับการขี่จักรยาน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ากิจกรรมที่เกิดแรงกระแทกสูง เช่น การวิ่งจะมีผลดีต่อการเพิ่มมวลกระดูกมากกว่าการฝึกแบบมีแรงต้าน
         ตามรายงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านนั้นจะเห็นผลเมื่อมีการควบคุมน้ำหนักและการจัดท่าทางของร่างกายแบบต่าง ๆ คนที่ออกกำลังกายโดยไม่เคยใช้น้ำหนักตัวเองช่วยในการออกกำลังกายมาก่อนจะได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเพื่อเพิ่มมวลกระดูกให้มากขึ้น แต่สำหรับคนที่ชอบกีฬาประเภทขี่จักรยาน ว่ายน้ำหรือพายเรือควรเพิ่มกิจกรรมการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกโดยการวิ่ง ทั้งนี้ลักษณะกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกควรเป็นกิจกรรมที่ทำให้กระดูกได้รับการกระตุ้นจากแรงกระแทกบริเวณนั้นให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น หากใครที่ออกกำลังกายแบบมีแรงต้านส่วนบนของร่างกายขึ้นไปก็จะไม่เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกส่วนสะโพกลงมา ดังนั้นกิจกรรมที่มีแรงกระแทกสูงในหลากหลายทิศทางอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกกำลังกายแบบพลัยโอเมตริก (Plyometrics) จะช่วยให้กระดูกส่วนใหญ่ในร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยกีฬาที่มีลักษณะของกิจกรรมแบบนี้ ได้แก่ การเล่นบาสเก็ตบอล วอลเลย์บอลหรือฟุตบอลก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน ซึ่งกีฬาที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการวิ่งในกิจกรรมนั้น ๆ
         การศึกษาดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการสร้างกระดูกจากการออกกำลังกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิ่ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยรุ่นหรือช่วงวัยผู้ใหญ่ก็มีประโยชน์ต่อมวลกระดูกเช่นกัน การออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกสูงอย่างการวิ่งนี้เป็นวิธีที่ง่ายและทำคนเดียวได้ จึงไม่สายเกินไปที่จะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของกระดูกแม้จะอยู่ในช่วงวัยกลางคนก็ได้รับประโยชน์จากการเริ่มวิ่งเพื่อเสริมสร้างกระดูกได้

อ้างอิง
Heaney, R. P., Abrams, S., Dawson-Hughes, B., Looker, A., Marcus, R., Matkovic, V., Weaver, C. (2000). Peak bone mass. Osteoporosis International, 11, 985-1009.
Michaelsson, K., Olofsson, H., Jensevik, K., Larsson, S., Mallmin, H., Berglund, L., Melhus, H. (2007). Leisure physical activity and the risk of fracture in men. PloS Medicine, 4, 1094-1100. doi:10.1371/journal.pmed.0040-199
National Osteoporosis Foundation. (n.d.). Just for men. Retrieved from http://www.nof.org/articles/236
Rector, R.S., Rogers, R., Ruebel, M., Widzer, M.O., Hinton, P.S. (2009). Lean body mass and weight-bearing activity in the prediction of bone mineral density in physically active men. Journal of Strength Conditioning, 23(2): 427-35.
Robling, A.G., Castillo, A.B., Turner, C.H. (2006). Biomechanical and molecular regulation of bone remodeling. Annual Review of Biomedical Engineering, 8, 455-498.
Strope, M.A., Nigh, P., Carter, M.I., Lin, N., Jiang, J., Hinton, P.S. (2015). Physical Activity–Associated Bone Loading During Adolescence and Young Adulthood Is Positively Associated With Adult Bone Mineral Density in Men. American Journal of Men's Health, 9(6) 442–450.
  Previous Topic Topic Next Topic  
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Jump To:
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา © สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา Go To Top Of Page
This page was generated in 0.14 seconds. Snitz Forums 2000