สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
หน้าแรก | แก้ไขข้อมูล | หัวข้อล่าสุด | สมาชิก | ค้นหา | FAQ
Username:
Password:
Save Password
 All Forums
 รวมบทความวิชาการน่ารู้
 บทความรายการสุขภาพดีมีสุข
 อยากเมารัก ไม่อยากเมารถ
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Author Previous Topic Topic Next Topic  

admin
Forum Admin

6599 Posts

Posted - 09 Sep 2019 :  13:51:04  Show Profile  Click to see admin's MSN Messenger address  Reply with Quote
ปีงบประมาณ 2562


อยากเมารัก ไม่อยากเมารถ
พญ.เพ็ญมาศ ธีระวณิชตระกูล และ พญ.อลิสรา วงศ์สุทธิเลิศ


กดปุ่ม > เพื่อเล่นไฟล์เสียง


         สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังรายการสุขภาพดีมีสุขทุกท่าน วันนี้เรานำความรู้เรื่องการป้องกันอาการเมารถเมาเรือมาฝากท่านผู้ฟังกันค่ะ ท่านผู้ฟังบางท่านอาจเคยมีประสบการณ์เวียนหัว ตัวเย็นเหงื่อออก ง่วงและหาวบ่อย หรืออาจถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียนยามนั่งรถ นั่งเรือ หรือนั่งเครื่องบิน ท่านผู้ฟังสงสัยกันไหมคะว่าอาการดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอะไร เราจะมาเฉลยให้ฟังกันค่ะ
         อาการเมารถเมาเรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า motion sickness เกิดจากระบบควบคุมการทรงตัวของร่างกายทั้ง 3 ระบบคือ ตา หูชั้นใน และกล้ามเนื้อกับข้อต่อทำงานไม่สมดุลกัน ทำให้สมองรับสัญญาณสับสน ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างนั่งรถ ตาของท่านผู้ฟังส่งสัญญาณบอกสมองว่าร่างกายกำลังเคลื่อนไหวเพราะมองเห็นภาพเคลื่อนไหวรอบรถ แต่หูชั้นในและกล้ามเนื้อกับข้อต่อส่งสัญญาณบอกสมองว่าร่างกายนั่งอยู่กับที่ในรถ จึงทำให้ท่านผู้ฟังมีอาการเมารถเกิดขึ้น ท่านผู้ฟังที่เคยมีอาการเมารถเมาเรือมาก่อน พักผ่อนไม่เพียงพอก่อนเดินทาง มีโรคไมเกรน ดื่มน้ำน้อยหรือท้องว่างก่อนเดินทาง มีอายุในช่วง 3 ปี ถึง 12 ปี กำลังตั้งครรภ์ กำลังมีประจำเดือนหรือรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด จะเสี่ยงต่อการเมารถเมาเรือมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติดังกล่าว นอกจากนั้น การนั่งในรถที่ขับเร็วมาก การนั่งเรือในช่วงที่คลื่นลมแรง การนั่งในตำแหน่งด้านหลังของพาหนะที่มองไม่เห็นทัศนียภาพภายนอก ภายในห้องโดยสารมีการถ่ายเทอากาศไม่ดี มีกลิ่นควันเครื่องยนต์ มีกลิ่นควันบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือระหว่างเดินทาง ก็จะกระตุ้นให้ท่านผู้ฟังมีอาการเมารถเมาเรือง่ายขึ้น ท่านผู้ฟังบางรายอาจมีอาการเมารถเมาเรือตั้งแต่พาหนะเริ่มขับเคลื่อน แต่ส่วนใหญ่อาการมักเกิดประมาณ 10-30 นาทีหลังจากออกเดินทาง และอาการจะทุเลาหลังออกจากพาหนะภายใน 2 – 3 ชั่วโมง ถ้ามีอาการมาก อาการกว่าจะทุเลาอาจต้องรอ 1 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นหลัง 1 วันหรืออาการแย่ลง ท่านผู้ฟังควรไปพบแพทย์
         ฟังมาถึงตอนนี้ ท่านผู้ฟังคงอยากรู้แล้วสินะคะว่า อาการเมารถเมาเรือมีวิธีป้องกันอย่างไร เราจะมาแนะนำวิธีการป้องกันง่ายๆ ดังนี้ค่ะ หากท่านผู้ฟังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเมารถเมาเรือ ท่านควรเลือกนั่งตำแหน่งด้านหน้าของพาหนะ เลือกที่นั่งที่มองเห็นทิวทัศน์ข้างทางและมีอากาศถ่ายเทดี ไม่อบอ้าว พยายามนั่งตัวตรงและมองตรงไปด้านหน้าไกลๆ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย จิบน้ำเป็นระยะเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ งดดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเดินทาง หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ดูทีวี หรือใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างเดินทาง หากท่านผู้ฟังเคยมีอาการเมารถเมาเรือมาก่อน ควรรับประทานยาแก้เมารถเมาเรือก่อนการเดินทางประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และพกถุงสำหรับใส่อาเจียนไปด้วยก็จะช่วยให้การเดินทางราบรื่นมากขึ้นค่ะ พบกันใหม่ตอนหน้า ขอให้ท่านผู้ฟังมีความสุขกับการเดินทางนะคะ สวัสดีค่ะ

แหล่งอ้างอิง
เมารถ เมาเรือ. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://haamor.com/th. (วันที่ค้นข้อมูล: 27 ธันวาคม 2560).
Motion-sickness. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : https://wwwnc.cdc.gov/travel/page/motion-sickness. (วันที่ค้นข้อมูล: 27 ธันวาคม 2560).
  Previous Topic Topic Next Topic  
 ตั้งหัวข้อใหม่  ตอบกลับหัวข้อนี้
 พรินต์ส่งให้เพื่อน
Jump To:
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา © สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา Go To Top Of Page
This page was generated in 0.14 seconds. Snitz Forums 2000